งานวันมาตรฐานแรงงานไทย ๔ ภาค (ครั้งที่ ๓ ภาคใต้)
ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้มีการจัดงานวันมาตรฐานแรงงานไทย ๔ ภาค (ครั้งที่ ๓ ภาคใต้) ในวันศุกร์ ที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ทางบริษัท เจ.ยู.เอ็น.เอ็กซ์เพรส จำกัด เป็นหนึ่งบริษัทที่ได้มีส่วนร่วมในการเข้าร่วมงาน เพื่อเข้าไปศึกษาข้อมูล ฟังการบรรยายการอภิปรายในหัวข้อ “มาตรฐานแรงงานไทย :โอกาศหรืออุปสรรคทางการค้า” โดยมี นายโชคชัย จันทร์สุวรรณ (รองประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี) นายณัฐภาณุ นพคุณ (ผู้อำนวยการกองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ) นางสาวกุลชนก เจนศิริพิกุล (ผู้จัดการแผนกอาวุโสแผนกหน่วยตรวจสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ) และ นายมโนชญ์ แสงแก้ว (ผู้อำนวยการสำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) โดยมีผู้ดำเนินการอภิปรายคือ พ.จ.ต.พิระ โชคบุณเจริญ นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
นอกจากนี้ได้มีพิธีมอบใบประกาศเกียรตคุณแก่สถานประกอบกิจการภาคใต้ที่เข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทยด้วยการประกาศแสดงผล (Self Declaration)ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๐ โดย นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
มาตรฐานแรงงานไทย ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจไทย TLS 8001-2010 ( CSR ด้านแรงงาน) มาตรฐานแรงงานไทยความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจไทย มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 โดยมีข้อกำหนดสอดคล้องกับการปฎิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น สถานประกอบกิจการที่นำมาตรฐานแรงงานไทยไปปฏิบัติถือเป็นดำเนินธุรกิจ ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงานเช่นกัน
ประโยชน์ของการพัฒนามาตรฐานแรงงานไทยในสถานประกอบกิจการ
ประโยชน์ต่อธุรกิจนายจ้าง
- มีแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการแรงงานช่วยลดความสูญเสียทรัพยากรต่าง ๆ
- ขจัดปัจจัยที่เป็นอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ
- สถานประกอบกิจการมีความน่าเชื่อถือ ศรัทธาเป็นที่ต้องการของบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการเข้ามาร่วมงาน
- เพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าทัั้งในระดับภูมิภาค และระดับสากล
- สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสถานประกอบกิจการเพิ่มความพึงพอใจให้กับ Stakeholders
- ประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ
ประโยชน์ต่อพนักงาน/ลูกจ้าง
- ได้รับการดูแลที่ดี มีคุณภาพที่ดีขึ้น
- มีขวัญกำลังใจในการทำงาน และเกิดความภัคดีต่อองค์กร
- เชื่อมั่นว่าสถานประกอบกิจการของตนไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับกฏหมาย
- เชื่อมั่นว่านายจ้างของตนไม่เอารัดเอาเปรียบ